Sunday, October 20, 2013

ข้าวพันผัก อาหารพื้นบ้านแห่งเมืองลับแล



                แป้งแผ่นบางสีขาวที่ห่อพันผักนานาชนิดโรยด้วยแคบหมูกระเทียมเจียว ส่งกลิ่นหอมชวนให้ลิ้มลอง ถูกจัดใส่จานสีขาว พร้อมเครื่องปรุงรสวางอยู่ตรงหน้า เป็นสิ่งชวนหลงใหลในมนต์เสน่ห์ เมื่อครั้งที่ได้มาเยือนอำเภอลับแลแห่งจังหวัดอุตรดิตถ์ที่ร่ำลือกันว่าลับแลเป็นเมืองแม่ม่ายในตำนาน

เมื่อรสชาติของแป้งที่ถูกปรุงรสคล้ายเส้นขนมจีนให้รสสัมผัสที่นุ่มละมุนลิ้น ผสมความหวานกรอบของผัก อร่อยจนต้องขอสั่งเพิ่มอีกหนึ่งจาน อาหารรสเลิศจานนี้คนลับแลเรียกกันว่า “ข้าวพันผัก” และด้วยความต้องใจในรสอร่อยทำให้อดไม่ได้ที่จะนำอาหารจานเด็ดจานนี้มาแนะนำให้ผู้สนใจลิ้มลองอาหารที่เกิดจากภูมิปัญญาไทยแท้

จากคำบอกเล่าของ “แต้ว” สาวเมืองลับแลที่เติบโตมากับครอบครัวที่เคยประกอบอาชีพขายข้าวพันผักเมื่อห้าปีก่อน แต่ต้องล้มกิจการไปเพราะประสบอุทกภัยครั้งใหญ่ เธอเล่าว่า ข้าวพันผักมีต้นกำเนิดมาจาก “ข้าวแคบ” ที่เป็นภูมิปัญญาของชาวลับแลที่คิดค้นหาวิธีถนอมอาหารเพื่อให้สามารถนำไปรับประทานในยามออกไปทำไร่ทำสวนได้ ข้าวแคบมีลักษณะเป็นแผ่นกลมๆ บางๆ และแห้งแลดูคล้ายแผ่นพลาสติกใสที่ขรุขระ รสชาติหวานปนเค็มแซมเปรี้ยวเคี้ยวเพลินปากดี ด้วยความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นหลังได้นำข้าวแคบมาประยุกต์เป็นอาหารหลากหลายเมนู แต่เดิมนั้นกว่าจะมาเป็นข้าวพันผักจานหนึ่งไม่ง่ายเลยทีเดียว ด้วยขั้นตอนการทำที่ยุ่งยากซับซ้อน โดยเฉพาะการเตรียมอุปกรณ์ และขั้นตอนของการหมักแป้ง

ก่อนอื่นเราต้องเตรียมหาอุปกรณ์ในการทำเสียก่อน อุปกรณ์หลายอย่างสามารถหาได้ในท้องถิ่น ส่วนมากมักนิยมใช้เตาถ่านในการตั้งหม้อ เพราะสามารถใช้ฟืนที่หาได้ง่ายและประหยัดเป็นเชื้อเพลิงได้ แต่เดิมจะใช้กระทะใบใหญ่ที่พอจะสามารถวาง “หม้อป่อง” ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 25 เซนติเมตร หม้อป่องมีลักษณะคล้ายกับหม้อดินเผาโบราณชนิดที่ไม่มีหูจับตัดเอาเฉพาะครึ่งส่วนบนมาใช้ โดยนำผ้าดิบมาขึงครอบบริเวณปากหม้อแล้วรัดด้วยเศษผ้า เจาะรูบนผ้าบริเวณขอบปากหม้อเล็กน้อย เพื่อเป็นช่องปล่อยไอน้ำเดือดที่พวยพุ่งออกมาและใช้เติมน้ำที่ระเหยไปจนเกือบแห้งขอด ใช้เศษผ้าวางรอบๆ รอยต่อของหม้อป่องและกระทะเพื่อกันไอน้ำเล็ดลอดออกมาด้านข้าง ปัจจุบันนิยมใช้หม้อสเตน-เลสที่ใช้นึ่งข้าวเหนียวรูปทรงคล้ายหม้อดินเผาโบราณแต่จะมีขนาดที่สูงโปรงกว่า ส่วน “ฝาครอบ” นั้นสานเป็นรูปทรงกรวยก้นตื้นด้วยไม้ไผ่อย่างประณีตห่อหุ้มด้วยถุงพลาสติกมีไม้ยาวผูกมัดตรงยอดกรวยใช้เป็นที่จับ ปัจจุบันกลายเป็นฝา สเตนเลสไปหมดแล้วเพราะคงทนหาได้ง่าย “ไม้ดาบ” มีหน้าตาเหมือนดาบไม้แต่ทว่าบางและเรียวเล็กกว่าใช้สำหรับห่อข้าวพันผัก เหลาด้วยไม้ไผ่อีกเช่นกัน

การหมักแป้งกินเวลายาวนานกว่าขั้นตอนอื่นๆ โดยเริ่มจากการนำข้าวเหนียวที่ยังเป็นข้าวสารล้างน้ำให้สะอาดแช่ในน้ำ ซึ่งภาษาเหนือจะเรียกกันว่า “หม่าข้าว” แช่ทิ้งไว้เป็นเวลาหนึ่งคืน จากนั้นใช้มือช้อนข้าวขึ้นจากน้ำ นำไปพักไว้ในตะเข่งที่สานขึ้นจากไม้ไผ่อย่างหยาบๆ ให้มีช่องว่างให้น้ำผ่านได้โดยไม่ลืมวางผ้าขาวบางรองไว้ก่อนชั้นหนึ่ง และคลุมด้วยผ้าขาวบางทิ้งไว้ให้มีกลิ่น เรียกว่า “การทำให้เน่า” นั่นเอง แต้วเล่าว่าขั้นตอนนี้ต้องรอเวลาถึง 3 วันแต่หากต้องการให้เน่าเร็วขึ้นก็ใช้ใบมะละกอวางบนข้าวแล้วนำไปตากแดด ใบมะละกอจะเป็นตัวช่วยให้เกิดความร้อนได้มากขึ้น หลังจากที่ข้าวเหนียวของเราเน่าได้ที่แล้ว นำมาใส่ในเครื่องโม่แป้งโบราณที่ทำจากหิน มีลูกโม่ที่มีรูสำหรับกรองข้าวและจับหมุน และมีส่วนฐานรองรับน้ำที่ไหลจากการบดด้วยโม่หินขนาดใหญ่ ด้วยการหมุนลูกโม่ไปรอบๆ ซึ่งมีช่องปล่อยน้ำที่ได้จากการบดลงสู่ภาชนะรองรับ น้ำข้าวที่ได้จากการบดจะถูกนำมาวางพักทิ้งไว้ให้ตกตะกอนอีก 1 คืน เพราะหากนำไปทำเลยเกรงจะเละจนทานไม่ได้ หลังจากได้แป้งที่ตกตะกอนจะต้องเทน้ำใสส่วนบนทิ้งไป ขั้นตอนการโม่แป้งนี้ต้องใช้กำลังคน 2-3 คนเลยทีเดียวเพราะมักหมักแป้งครั้งละมากๆ  โดยใช้ข้าวมากถึงครั้งละ 40 ลิตร ปัจจุบันใช้แป้งหมักทำขนมจีนสำเร็จรูปแทน เพราะประหยัดเวลามากกว่า

เมื่อเราได้แป้งหมักที่ข้นเหนียวเรียบร้อยแล้ว ปรุงรสหวานเค็ม โดยมีเกลือและน้ำตาลเป็นวัตถุดิบหลัก หากข้นเหนียวเกินก็เติมน้ำลงไปเล็กน้อย ตั้งหม้อที่เตรียมไว้ด้วยไฟแรง รอจนน้ำเดือดระอุ มีไอน้ำพุ่งจากรูที่เราเจาะไว้บนผ้า “การทำข้าวแคบนั้นง่ายสำหรับมือใหม่” แต้วบอกอย่างนั้น เพียงแค่นำแป้งหมักตักขึ้นเต็มกระบวยเทลงบนปากหม้อที่ขึงด้วยผ้าดิบ เกลี่ยเป็นวงกลมจนเต็มพื้นที่ ปิดฝาทิ้งไว้ประมาณ 30 วินาทีโดยประมาณ ใช้ไม้ดาบยกตวัดขึ้นไปวางบนแผ่นหญ้าคาตากแดดให้แห้งแล้วเก็บวางซ้อนกันเป็นชั้น ใส่ถุงไล่อากาศออกให้หมดเก็บไว้รับประทานได้นาน ปัจจุบันมีการปรับปรุงสูตรไปต่างๆ นานา เช่น ข้าวแคบกระเทียม ข้าวแคบกุ้ง ข้างแคบงาดำ ข้าวแคบพริกสด ข้าวแคบฟักทอง เป็นต้น

ข้าวพันผัก ก็ทำคล้ายกับข้าวแคบเพียงแต่ไม่ต้องยกขึ้นตากแห้ง แต่เราจะใส่ผักหลากหลายชนิด อาทิ กะหล่ำปลี ผักบุ้ง แครอท ฟักทองตามต้องการ จากนั้นปิดฝาครอบทิ้งไว้ประมาณ 1 นาที เปิดฝาใช้ไม้ดาบตักขอบแป้งมาห่อหุ้มผักไว้ แล้วใช้ตะหลิวตักขึ้นใส่จาน โรยด้วยน้ำมันกระเทียมเจียวเล็กน้อยพร้อมแคบหมูกับผักชีพร้อมเสิร์ฟ ปัจจุบันมีการประยุกต์ปรับปรุงไปเรื่องๆ ใส่ไข่บ้าง ใส่วุ้นเส้นราดน้ำจิ้มสุกี้เป็นข้าวพันสุกี้บ้าง ล่าสุดนี้ นางนิภา เตยะธิติ อาจารย์ประจำโรงเรียนลับแลพิทยาคม ได้คิดค้นข้าวพันผักสูตรใหม่ให้ชาวลับแล โดยการนำเต้าหู้ถั่วเหลืองแผ่นหั่นเป็นชิ้นลูกเต๋าเล็กๆ ผัดกับหมูสับปรุงรสด้วยซอส ใส่ตามผักลงไปก่อนห่อข้าวพันผักด้วย เป็นการเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ 

น้ำจิ้ม หรือเครื่องปรุงรสเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการรับประทานข้าวพันผัก หลักๆจะนิยมใช้ซอสปรุงอาหารสำเร็จรูป อย่างซอสพริก ซอสถั่วเหลือง น้ำปลา น้ำตาล พริกป่น สามารถปรุงตามรสปากของแต่ละคนได้

ของดีดั้งเดิมต้องเป็นของที่อยู่ในท้องถิ่นตั้งแต่เกิด ข้าวพันผักเจ้าอร่อยของลับแลนั้น แต้วพูดด้วยน้ำเสียงดุดันว่า “ข้าวพันผักดั้งเดิม ต้องเป็นร้าน “ป้าย่น ข้าวพันผัก” แห่งเดียวเท่านั้น ส่วนร้านที่เราเห็นในอินเทอร์เน็ตนั้นไม่ใช่ร้านดั้งเดิม แถมทำผิดสูตรอีกต่างหาก ที่เป็นเจ้าดังได้เพราะเขาทำเว็บไซต์และจดทะเบียนการค้าแล้วไปขายอยู่ในเมือง ส่วนของชาวลับแลแท้ๆ  ไม่มีหรอกจดทะเบียน แค่ทำขายพอประทังชีวิตคนในบ้านไปวันๆ เท่านั้นแหละ” ร้านป้าย่น ข้าวพันผัก ตั้งอยู่ที่ตำบลหัวดง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ แม้ว่าจะเป็นร้านเล็กๆ หลังคามุงใบจาก มีโต๊ะให้นั่งเพียงไม่กี่ตัว ไม่ใช่ร้านเจ้าดังในอุตรดิตถ์ แต่การันตีความอร่อยจากการที่มีลูกค้าจากในเมืองมาอุดหนุนกันไม่ขาดสาย “สิ่งที่ป้าดีใจมากที่สุดก็ ป้าขายข้าวแคบ ข้าวพัน จนส่งลูกสาวเรียนจบปริญญาตรีไปถึง 2 คนนั่นล่ะ” ป้าย่นตอบด้วยความภาคภูมิใจ ยิ้มบานเบ่งบนใบหน้าเผยให้เห็นรอยเหี่ยวย่น ที่เกิดจากกาลเวลา

นอกจากนี้ยังมี “ข้าวเปิ๊บ” หรือ “ก๋วยเตี๋ยวพระร่วง” ของจังหวัดสุโขทัย ก็เป็นการนำสูตรข้าวพันผักไปประยุกต์ให้รับประทานง่ายคล่องคอ เนื่องจากบางคนทางข้าวพันผักแล้วรู้สึกฝืดลำคอ ได้มีการเติมน้ำซุปกระดูกหมู ลูกชิ้น หมูแดง ลงไปดูคล้ายก๋วยเตี๋ยวทานง่ายยิ่งขึ้น เพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค

ฉันเองในฐานะลูกหลานอุตรดิตถ์ รู้สึกภาคภูมิใจที่บ้านเกิดเมืองนอนของตัวเองมีอาหารเลิศรส เป็นอาหารที่เกิดจากภูมิปัญญาบรรพบุรุษไทยแท้ และย่อมมีคุณค่าควรแก่การรักษา การเลือกที่จะแบ่งปันความสุข ความอร่อยแก่ผู้อื่นเป็นสิ่งที่น่ายกย่อง ชาวบ้านลับแลทุกครัวเรือนจะต้อนรับแขกผู้มาเยือนด้วยข้าวพันผักอาหารท้องถิ่นที่มีให้ทานทุกฤดูกาล ทั้งยังเชิญชวนให้ลงมือทำโดยไม่หวงสูตร เพราะของดี สิ่งดี เรื่องราวดีๆ เรามีไว้แบ่งปัน และนั้นเป็นสิ่งที่ฉันประทับใจไม่รู้ลืม...


ขอขอบคุณ พิจิตรา มีวงษ์